วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

อินเตอร์เน็ต 'ของเล่น' ของคนไทย

อินเตอร์เน็ต 'ของเล่น' ของคนไทย article
   
     
          เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าอินเตอร์เน็ตคือสื่อออนไลน์ที่เป็นแหล่งรวมของข้อมูล ความบันเทิง ตลอดจนเป็นทางเลือกใหม่ในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อินเตอร์เน็ตมักจะถูกนำมาใช้เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก เห็นได้จากผลงานวิจัยและการทำโพลที่ผ่านมาที่พบว่าเด็กนักเรียนและนักศึกษาใช้อินเตอร์เน็ตในแง่ความบันเทิง โดยเฉพาะเพื่อการเล่นเกมถึงกว่า 80%
             ในขณะที่มีเพียงประมาณ 20% เท่านั้นที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำหรับค้นหาข้อมูลความรู้ จะเห็นได้ว่าเยาวชนของบ้านเราส่วนมากใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการเล่นเกม แช็ต โพสต์ข้อความและภาพ (ซึ่งเต็มไปด้วยคำหยาบและเรื่องลามกอนาจาร) ดูหนังฟังเพลง โหลดภาพและเสียง รับ-ส่งอี-เมล (ซึ่งมักจะเป็นเรื่องไร้สาระ) รวมถึงซื้อขายสินค้าและบริการ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นไปเพื่อความบันเทิงแทบทั้งสิ้น      
             เป็นที่น่าสังเกตว่าคนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้คำกริยา 'เล่น' กับอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะวลี 'เล่นเน็ต' ที่ถือได้ว่าเป็นคำพูดติดปากเด็กไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ใหญ่ (รวมถึงผู้เขียนด้วย)
             สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทางทีวีและวิทยุ โดยเฉพาะสื่อโฆษณาในบ้านเราเองก็นิยมใช้คำกริยา 'เล่น' ในเวลาที่กล่าวถึงการใช้อินเตอร์เน็ต

             ตัวอย่างเช่น มีบริษัทที่ให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตเจ้าหนึ่งใช้คำโฆษณาว่า "เล่นเน็ตถูกเหลือเชื่อ...ต่อความสนุกแบบจุใจ โหลดกันให้มันส์" เป็นต้น

             นักภาษายอมรับว่าภาษากับความคิดมีความสัมพันธ์ต่อกันจนนำไปสู่แนวคิดที่ว่า 'ภาษาสะท้อนความคิด' เมื่อนำแนวคิดนี้มาวิเคราะห์การใช้คำกริยา 'เล่น' กับอินเตอร์เน็ตในภาษาไทย อาจกล่าวได้ว่าในทรรศนะของคนไทยส่วนใหญ่มองอินเตอร์เน็ตเป็น "ของเล่น" ชิ้นหนึ่งที่นำความสนุกสนานเพลิดเพลินมาสู่ผู้เล่น ดังนั้น คำว่า 'เล่นเน็ต จึงถือเป็นหลักฐานทางภาษาที่ช่วยสนับสนุนข้อค้นพบหรือความเชื่อที่ว่าคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนนิยมใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก

              การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงที่ไร้สาระและล่อแหลมต่อศีลธรรมและจริยธรรมของเยาวชนไทยที่นับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงทั้งในแง่เนื้อหาและเวลาที่ใช้ไปกับการหมกมุ่นในเรื่องดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องล้วนมีความเป็นห่วงเป็นใยและพยายามหาวิธีควบคุมและป้องปราม ตลอดจนหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเยาวชนไทยให้หันมาใช้อินเตอร์เน็ตในทางสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นในแง่ของการเป็นแหล่งในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลความรู้ที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาล

              ในฐานะนักภาษาศาสตร์ ผู้เขียนอยากจะเสนอแนะวิธีการในการปรับเปลี่ยนทรรศนะของเยาวชนไทยที่มีต่ออินเตอร์เน็ตจากการเป็น 'ของเล่น' ไปสู่การเป็น 'เครื่องมือ' ในการแสวงหาความรู้โดยอาศัยแนวคิดที่ว่า 'ภาษากำหนดความคิด' มาช่วยในการเปลี่ยนมุมมองของความคิดของเยาวชนไทย (อย่างค่อยเป็นค่อยไป) ที่มีต่อการใช้อินเตอร์เน็ตในทางสร้างสรรค์ด้วยการขอความร่วมมือสื่อทุกแขนงให้เลิกใช้คำว่า "เล่นเน็ต" แล้วเปลี่ยนมาใช้คำว่า 'ค้นเน็ต' หรือ 'ใช้งานเน็ต' กันให้แพร่หลาย เพราะผู้เขียนเชื่อว่าการใช้คำกริยา 'ค้น' หรือ 'ใช้งาน' กับอินเตอร์เน็ตกันอย่างกว้างขวางน่าจะมีส่วนในการโน้มน้าวความคิดของเยาวชนไทยให้หันมามองและใช้อินเตอร์เน็ตในฐานะที่เป็น'เครื่องมือ' ในการแสวงหาข้อมูลความรู้มากกว่าจะเป็นเพียง 'ของเล่น' (ที่อันตราย) ชิ้นหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา :  มติชน
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น